องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมกับเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ  

     องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมกับเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ

               วันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 11.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปยังเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์  ซึ่งเป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า "เขื่อนสิริกิติ์" เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 

              ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนสิริกิติ์ มี 8 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการชลประทาน : น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูก ในที่ราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ในปริมาณที่ได้มีการตกลง ร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน ด้านการบรรเทาอุทกภัย : อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมาช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่ง แม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า : น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังงานไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น ด้านการประมง : กฟผ.ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมากทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ช่วยเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน ด้านการคมนาคมทางน้ำ : ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวก และใช้งานได้ตลอดปี และด้านการท่องเที่ยว : เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงามโดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศ ประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ นักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสาย 

             ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านห้วยต้า หมู่ที่ 4 ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านห้วยต้า อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้า ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาจากหลายถิ่นฐานบางกลุ่มหลบหนีสงคราม บางกลุ่มมาจากเวียงจันทร์ และมีการขยายตัวเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 8 บ้านห้วยต้าใต้ หมู่ที่ 9 บ้านห้วยต้ากลาง หมู่ที่ 10 บ้านห้วยต้าเหนือ และหมู่ที่ 11 บ้านหาดลัง ปัจจุบันมีประชากร จำนวน 490 คน 141 ครัวเรือน อาชีพหลักส่วนใหญ่ ทำนา และประกอบอาชีพอื่นๆ ได้แก่ การประมง ทำสวนผลไม้ ทอผ้า แกะสลัก และรับจ้างทั่วไป ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งราษฎรเข้ารับการอบรมการทอผ้า แกะสลัก เพื่อนำความรู้มาประกอบอาชีพ โดยในปี 2567 ได้ส่งสินค้าไปยังสวนจิตรลดา มีรายได้ จากงานทอผ้า ประมาณ 240,000 บาท และงานแกะสลัก ประมาณ 210,000 บาท

          นอกจากนี้ยังได้พระราชทานโครงการยุ้งฉางข้าว เพื่อให้ราษฎรยืมข้าวไปรับประทานในช่วงที่ไม่มีข้าวหรือจัดซื้อตามกำลัง รวมถึงโครงการกองทุนเรือพระราชทานบ้านห้วยต้า ที่พระราชทานเรือเพื่อใช้รับ ส่ง ผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินและใช้โดยสารในหมู่บ้าน    

          โอกาสนี้ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่สมาชิกของกลุ่มศิลปาชีพบ้านห้วยต้า จำนวน 37 ถุง ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้า จำนวน 23 ถุง กลุ่มแกะสลัก จำนวน 11 ถุง กลุ่มภาพวาดดินสอ จำนวน 1 ถุง และกลุ่มจักสาน จำนวน 2 ถุง


กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.