สุขกายสบายใจ ...สุขแบบพอเพียง... โดยขวัญจิรา สุวรรณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโนบายและแผน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ  

           สุขกายสบายใจ ...สุขแบบพอเพียง...โดยขวัญจิรา สุวรรณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโนบายและแผน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
            หญ้าแฝก เป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้จักมาก่อนว่าคือหญ้าอะไร ปลูกกันที่ไหน เอามาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลองให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย  จากนั้นกรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานต่าง ๆ  ได้ร่วมกันปลูกหญ้าแฝกและนำไปขยายพันธุ์ ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและทรัพยากรธรรมชาติตามสถานที่ต่าง ๆ การนําหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร มีหลายรูปแบบ เช่น การปลูกในพื้นที่พืชผัก พืชไร่ สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น และช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการเกษตร และสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของหญ้าแฝก ทั้ง ราก ใบ ดอก ไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะใบหญ้าแฝก ที่นำมาผ่านกระบวนการสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นานาชนิด ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต
 
             นางจินต์ เทพกำเนิด  เกษตรกรเจ้าของศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหญ้าแฝก ปัจจุบันอายุ 73 ย่าง 74  อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 5 บ้านเกาะสวาท ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน (สามีเสียชีวิตตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538)  อยู่กับลูกชายและลูกสาวมาตลอด เมื่อลูกสาวมีครอบครัวก็แยกย้ายไปอยู่กับสามีและช่วยเลี้ยงหลานบ้าง ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกชาย  เดิมนางจินต์ มีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า  ยามว่างจากการเย็บผ้าก็หันมาจักสานผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช จึงชักชวนเพื่อนบ้านที่ว่างจากงานหลักคือการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มารวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืชทั่วไป ได้แก่ ใบลาน ใยกล้วย กระจูด มีรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ย 250,000 บาท/ปี  ในปีพ.ศ. 2540 มีวิทยากรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาสอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช คือหญ้าแฝก ตอนนั้นตนและสมาชิกในกลุ่มไม่รู้จักหญ้าแฝกเลย ต้องนำมาใช้อย่างไร เมื่อครูสอนขั้นตอนต่าง ๆ จนเข้าใจ  จึงเริ่มทำได้ จากเดิมซื้อใบหญ้าแฝกจากจังหวัดพัทลุงมาใช้ในกลุ่ม และเมื่อได้ไปเห็นหญ้าแฝกที่ปลูกในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายและรักษาทรัพยากรดิน จึงหันมาสนใจหญ้าแฝกมากขึ้น ต่อมาในปีพ.ศ. 2552 เริ่มเข้ารับการอบรมที่งานอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ด้านการแปรรูปหญ้าแฝกด้วยเทคนิคต่าง ๆ เรื่อยมา จึงได้ขอพันธุ์กล้าหญ้าแฝกจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มาปลูกเองที่บ้าน เพราะเป็นหญ้าของพ่อที่ส่งเสริมให้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำและสิ่งแวดล้อม และมีประโยชน์อีกมากมายจึงสนใจนำไปปลูกเพื่อแปรรูปเองไม่ต้องซื้อ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก   ปีพ.ศ. 2551 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้คัดเลือกให้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหญ้าแฝก พร้อมทั้งให้สนับสนุน โต๊ะ เก้าอี้ สร้างศาลา และห้องสุขา เพื่อรองรับผู้มาเยี่ยมชม สมาชิกได้มีมติให้นางจินต์ เทพกำเนิด เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกรวม 15 คน จากที่ได้รับการฝึกอบรมการแปรรูปหญ้าแฝกสมาชิกในกลุ่มร่วมกันคิด ออกแบบนำหญ้าแฝกมาแปรรูปหลากหลายและมีความประณีตมากขึ้น เช่น  กระจาด หมวก กระเป๋า ตะกร้ากล่องทิชชู ถังอเนกประสงค์ เมื่อสมาชิกพัฒนาฝีมือได้ดีขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและมีสีสันสวยสดงดงามขึ้น จึงได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกสู่แบรนด์ “ภัทรพัฒน์”  ในปีพ.ศ. 2553 ทำให้สมาชิกในกลุ่ม มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อได้มีโอกาสเข้ามารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เส้นใยพืชในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้คุยกับเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมว่า เราน่าจะนำหญ้าแฝกมาแปรรูปบ้างเพราะเป็นหญ้าของในหลวงให้ปลูก เป็นหญ้าที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ได้ทั้งราก ใบ ดอก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้สนับสนุนให้นำใบหญ้าแฝกที่ปลูกเองบริเวณข้างบ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ทำให้ตนและสมาชิกในกลุ่มมีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ใครทำได้มากมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งได้มีการตกลงกันว่าหากมีการสั่งผลิตภัณฑ์ใด ๆ สมาชิกทุกคนจะแบ่งกันไปทำ หากใครทำได้มากก็มีรายได้มากขึ้นไปด้วยอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน ซึ่งแต่ละวันยามว่างก็มานั่งรวมกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์ไปด้วยและคุยกันไปด้วย เพื่อหาแนวทางการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สำคัญต้องให้มีความประณีตมากขึ้นได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เสมอ และที่ภูมิใจมากคือ สำนักงาน กปร.ได้นำ ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ไปจัดแสดงในงานหญ้าแฝกโลกครั้งที่ 5 ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2554  หากมีผู้สนใจหรือผู้ที่ต้องการเข้ามาศึกษาดูงานสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจักสานเส้นใยพืชและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็ยินดีมาก  ซึ่งในปี 2567 มีเกษตรกร นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ได้มาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้ จำนวน 50 ราย โดยถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปหญ้าแฝกเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ตามที่สนใจ

          ทุกวันนี้ สมาชิกทุกคนก็มีความสุขในอาชีพที่ทำนับว่าประสบผลสำเร็จในระดับที่พอใจมาก ส่วนพื้นที่บริเวณบ้านของแต่ละคน เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชผักไว้กินเองทั้งผักกินผล ผักกินใบ เช่น ผักบุ้ง มะเขือ พริกขี้หนู พริกไทย และไม้ผลบางชนิด และปลูกผักแบบยกแคร่บริเวณอาคารจัดแสดงผลิตภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้  เพียงแค่นี้ทำให้พวกเรามีความสุข สุขทั้งกายสุขทั้งใจ ตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง สุขจนถึงทุกวันนี้และตลอดไป